วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

หอไตรหนองขุหลุ - อุบลราชธานี

          ตั้งอยู่ที่บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ อำเภอตระการพืชผล หอไตรนี้ตั้งอยู่ในหนองน้ำชื่อหนองขุหลุ ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืองของหมู่บ้านปัจจุบันเป็นตัวอำเภอ ประมาณ ๑ กม.

ขุหลุ มาจากคำอีสาน ครุ แปลว่ากระบุงที่เอาไว้ใส่ของไม้คานหาบ ส่วน หลุ แปลว่าทะลุ เรื่องเก่าย่อๆมีเจ้าขุนเมืองท่านหนึ่งเดินทางผ่านมาโดยเอาทองใส่ครุหาบมาด้วยพอมาถึงที่นี่ครุที่ใส่ทองเอาไว้ได้ทะลุทองก็หล่นลง ทำให้ดินแถวนั้นยุบลงกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ก็นึกเอานะคะว่าทองจะมีแค่เยอะไหน

สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2459 - 2461 โดยหลวงปู่สิงห์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย และหลวงราษฎร์บริหาร ( สด กมุทมาศ ) นายอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้นได้ปรึกษาหารือกัน เรื่องตู้คัมภีร์ใบลานและตำราทางพุทธศาสนา ของวัดศรีโพธิ์ชัยมีมาก เลยจะหาที่เก็บ ทั้งเจ้าอาวาสออกความเห็นว่าควรสร้างหอไตรกลางน้ำ เพื่อกันปลวกและแมลงอื่น ๆ อีกทั้งเป็นการถนอมคัมภีร์ใบลานให้คงทนได้นาน และท่านเห็นว่าหนองขุหลุเป็นอหนองน้ำที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม  จึงได้บอกกล่าวชาวบ้านให้หาไม้และวัสดุอื่นๆ มาช่วยกันในการก่อสร้าง

ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นอีสานที่มีความงามเรียบง่าย โดยฝีมือช่างท้องถิ่น ประกอบด้วยอาคารไม้ยกพื้นสูง รองรับด้วยเสาไม้ 25 ต้น ทำจากไม้พรรณชาติ เรียงเป็นแถว ๕ แถว แถวละ ๕ ต้น ดัวอาคารเป็นเรือนไม้แบบเครื่องสับ

หลังคามีสองส่วน คือส่วนบนเป็นทรงจั่ว ส่วนชั้นล่างทำเป็นหลังคาปีกนก (พะไร) ปัจจุบันมุงกระเบื้องดินเผา ส่วนประดับหลังคาคือตัวเหงาไม้แกะสลักรูปนาค ช่อฟ้า (โหง่)  รวยระกา และคันทวย แกะสลักเป็นลายก้านขด คล้ายเลข ๑ ไทยซ้อนกันและหันหัวแย้งกันสามชั้น

โดยรอบอาคารตีไม้เข้าลิ้นในแนวตั้ง ทรวดทรงอาคารแผ่กว้าง หลังคาสูงทิ้งชายคาลาดต่ำ ให้ความรู้สึกสงบนิ่งและสมดุล

ภายในเป็นห้องทึบสำหรับเก็บคัมภีร์ใบลาน มีประตูทางเข้าทางด้านทิศใต้ทางเดียว ส่วนที่ใช้ประดับตกแต่ง ที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย แสดงถึงฝีมือช่างพื้นถิ่น

เดิมจะไม่มีสะพานเชื่อมติดเมื่อก่อนพระต้องพายเรือเข้าไป


            ปี พ.ศ.๒๕๑๗ ฟ้าผ่าเสาแถวแรกด้านทิศตะวันตกสุด แล้ววัดศรีโพธิ์ชัยก็จัดงบประมาณเปลี่ยนเสาในปีนั้นเลย

            ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ฟ้าผ่าเสาแถวแรกด้านทิศตะวันออกสุด เวลากลางคืนจนเกิดไฟลุกไหม้ แต่ฝนตกหนักจึงดับไฟลงได้วันต่อมาทางวัดก็เปลี่ยนเสาตันที่ถูกฟ้าผ่าเสียหายจนแล้วเสร็จ

            ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้สร้างสะพานไม้เข้าชมหอไตร แต่ก็ได้ทรุดโทรมในเวลาต่อมา จนปี พ.ศ.๒๕๔๔ จึงได้ปรับปรุงสะพานใหม่ จนสามารถเดินเข้าชมหอไตรกลางน้ำได้อย่างชัดเจน

ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของหอไตรนี้ คือมิได้เป็นของวัดใดวัดหนึ่ง แต่เป็นของชุมชนในบริเวณนั้น



แต่เดิมหอไตรหนองขุหลุ ใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์พุทธศาสนาอักษรธรรมและอักษรขอม มีบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานีและประวัติทุ่งศรีเมืองว่า หอไตรแห่งนี้ได้เคยบรรจุตำราหนังสือและวรรณคดีอีสานจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบัน คัมภีร์โบราณและหีบพระธรรม ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่อุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัย

สำหรับตัวอาคารหอไตร ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมา ครั้งล่าสุดคือในปีพ.ศ. 2542 บูรณะโดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากร การดูแลรักษาและบูรณะอย่างต่อเนื่อง ทำให้มรดกวัฒนธรรมแห่งนี้ยังคงอยู่ในสภาพดี แม้มีอายุยาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ


ความสำคัญของหอไตรหนองขุหลุ นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแล้ว ยังนับเป็นปูชนียสถานที่เรียกว่า ธรรมเจดีย์การอนุรักษ์หอไตรหนองขุหลุ จึงเป็นยิ่งกว่าการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม แต่เป็นการสืบทอดพระศาสนาให้ดำรงอยู่เป็นสรณะของชาวพุทธที่ยั่งยืนสืบไปอีกประการหนึ่งด้วย ในปี 2547 ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากกรมศิลปากร

บริเวณรอบๆมีภูมิสถาปัตย์แบบสวนสาธารณะขนาดใหญ่ นอกจากจะเป็นสถานที่ออกกำลังกายของชาวเมืองแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่ ที่ชาวเมืองใช้จัดกิจกรรมในอำเภอในวาระต่างๆ เช่น การเดิน วิ่งการกุศล งานกาชาด เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes